SCGC เปิดตัวโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” ตามแนวทาง ESG เดินหน้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ช่วยลดวิกฤติโลกร้อน มุ่งสร้างวิถีสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อโลกและสังคมที่ยั่งยืน

SCGC เปิดตัวโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” ตามแนวทาง ESG เดินหน้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ช่วยลดวิกฤติโลกร้อน มุ่งสร้างวิถีสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อโลกและสังคมที่ยั่งยืน

ระยอง – 26 สิงหาคม 2565 : เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เปิดตัวโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” : ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางและเป้าหมายด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อช่วยลดวิกฤติภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานจิตอาสา เดินหน้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ด้วยการปลูกป่าชายเลน และป่าบก การเพาะต้นกล้าเพื่อจัดสรรให้พื้นที่ที่ขาดแคลน รวมไปถึงการปลูกป่าในใจคน ด้วยแนวคิดคนดูแลป่า ป่าดูแลคน สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของประเทศ เพื่อโลกและสังคมที่ยั่งยืนต่อไป โดยได้รับเกียรติจากนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธี

ภายในงาน “ปลูก เพาะ รัก” มีจิตอาสาจากภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 300 คน ร่วมใจปลูกต้นไม้รวม 1,000 ต้น อันเป็นก้าวแรกของการปลูกป่า 1 ล้านต้น ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จังหวัดระยอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 โดยได้คัดสรรพันธุ์ไม้หายากที่หายไปจากท้องถิ่น ด้วยสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และขาดการดูแลรักษา ได้แก่ ลำพู ลำแพน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังช่วยคืนความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อีกด้วย นำไปสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูสิ่งแวดล้อม สังคม ด้วยหลักบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา SCGC ได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูผืนป่า สร้างฝายชะลอน้ำ และสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เป็นวาระสำคัญของโลกในขณะนี้ นอกจากนี้ SCGC ยังปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและป่า ซึ่งเป็นหนทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ SCGC ได้เปิดตัวโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อช่วยลดวิกฤตโลกร้อน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการปลูกป่าชายเลน และป่าบก เพาะต้นกล้าเพื่อจัดสรรให้พื้นที่ที่ขาดแคลน รวมถึงการสร้างป่าในใจคน เพื่อให้เกิดการรักษาและดูแลผืนป่าอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป”

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เผยว่า “การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งป่าไม้ และป่าชายเลน เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จังหวัดระยองได้ดำเนินการ ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง และมีการนำมาใช้อย่างคุ้มค่า โดยพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จะสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ซึ่งโครงการ “ปลูก เพาะ รัก” ที่ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ริเริ่มจัดขึ้นในครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศ ช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา “ภาวะโลกร้อน” นำไปสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณตำบลเนินพระที่มาร่วมกันปลูกป่าชายเลนในครั้งนี้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมืองระยอง พร้อมเชื่อมต่อไปสู่โครงการป่าในเมือง ซึ่งทางจังหวัดมีแผนต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมไม่เพียงแต่ประชาชนในพื้นที่ แต่ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยว เพื่อให้ได้เห็นถึงคุณค่าความสวยงามของธรรมชาติ ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร่วมกัน”


ทั้งนี้ SCGC มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573 ด้วยแนวทาง “Low Carbon, Low Waste” ได้แก่ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (carbon offset) เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ลักษณะต่าง ๆ รวมถึงป่าชายเลน

ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

Related posts