กาฬสินธุ์ จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเทิดพระเกียรติ

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค เพื่อเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พร้อมสร้างเครือข่ายองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ อ.นามน) รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ประจำปี 2565 โดยมีคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” อย่างหาที่สุดมิได้


รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่าสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2565 มีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏ วิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่ ต.หว้ากอ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี


รศ.จิระพันธ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2565 เพื่อเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้งเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์


“ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยพิธีถวายพานพุ่มสักการะ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติ และพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการและกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)” รศ.จิระพันธ์กล่าว


รศ.จิระพันธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการนำเสนอผลงานโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ของอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา การประกวดและการแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้เข้าร่วมการประกวดและแข่งขัน 441 ทีม จาก 212 โรงเรียน ประกอบด้วย การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันเรียงความด้านวิทยาศาสตร์ การประกวดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ การแข่งขันจรวดขวดน้ำประเภทแม่นยำ เกมอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ การแสดงผลงานและออกร้านของหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ อบต.หนองบัว เป็นต้น

Related posts