(สุรินทร์) กอ.รมน.สุรินทร์ จัดประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2565
วันที่ 18 สิงหาคม 265 เวลา 09.00 น. นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ /ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุม MANAGEMENT COCKPIT & WAR ROOM กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พันเอก กิตติพงษ์ พุทธิมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์(ท) พันเอกอัครสิทธิ์ปะกิรตา หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายและการข่าวฯ กล่าวรายงาน ซึ่งการปฏิบัติราชการในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการโดย อาศัย อำนาจตามความในมาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 51/2560
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการบูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคง ได้แก่ พันธกิจการขับเคลื่อน 4 ประการ ประกอบด้วย การติดตามแจ้งเตือนและประเมินแนวโน้มสถานการณ์ การบูรณาการแผนงาน แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา การอำนวยการ ประสาน เสริมการป้องกันแก้ไขปัญหา และ การติดตามและประเมินผล มีพันธกิจเสริม อีก 2 ประการคือ การส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจ การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังมีการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบโจทย์ตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประซาชาติ จำนวน 17 เป้าหมาย ตามเกณฑ์การดำเนินงานด้วยโครงสร้างทางพื้นที่และบริบทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีประเด็นและความเกี่ยวข้อง จำนวน 16 เป้าหมาย ประกอบด้วย ความยากจน ขจัดความอดยาก สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษา คุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ น้ำสะอาดและสุขาภิบาล พลังงานสะอาดในราคาที่ซื้อได้ อาชีพและการ เติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ นครและชุมชน ยั่งยืน การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ การปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันได้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ สามารถจัดกลุ่มของปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ความมั่นคงแห่งรัฐ ได้แก่ ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 2.ความมั่นคงทางสังคม ได้แก่ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ปัญหายาเสพติด และปัญหาการย้ายถิ่น
3.ความมั่นคงพิเศษ ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 4.ความมั่นคงด้าน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน อาหาร การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ปัญหาการขาดความ สมดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาโรคระบาด และ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีกลไกกรทำงานการเชื่อมประสานความร่วมมือหน่วยงานตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ให้เกิดเอกภาพในการกำหนดความชัดเจนของพื้นที่ที่ประสบปัญหา และกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อจัดทำบัญชีเป้าหมายที่มีความแม่นยำ สอดคล้องสถานการณ์ รวมทั้งสามารถประเมินสถานการณ์และจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงสามารถบูรณาการนำบัญชีเป้าหมายไปบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด และยั่งยืนต่อไป
ปุรุศักดิ์ แสนกล้า ข่าว/ภาพ