“เพื่อไทย” ติง “ประยุทธ์” อย่าพูดเกินจริง เศรษฐกิจขยายตัวยังไม่ถึงระดับที่ได้ตกลงมา ชี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบมา 3 ปีแล้ว ประชาชนลำบาก รายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะ ฟื้นฟูเศรษฐกิจดีกว่าแจกเงิน คนอยากมีรายได้ที่มั่นคง

“เพื่อไทย” ติง “ประยุทธ์” อย่าพูดเกินจริง เศรษฐกิจขยายตัวยังไม่ถึงระดับที่ได้ตกลงมา ชี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบมา 3 ปีแล้ว ประชาชนลำบาก รายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะ ฟื้นฟูเศรษฐกิจดีกว่าแจกเงิน คนอยากมีรายได้ที่มั่นคง

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แย่งซีน สภาพัฒน์ ฯ เร่งแถลงการขยายตัวในไตรมาสที่สองว่าจะขยายตัวได้ 3.3% ทั้งที่โดยมารยาทแล้วต้องให้สภาพัฒน์ฯ แถลงข่าวก่อนในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ถูกโจมตีเรื่องความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจจึงพยายามหาเรื่องเพื่อมากลบปมด้อย โดยที่อาจจะไม่ทราบเลยว่าการขยายตัวได้ 3.3% ไม่ได้แปลว่าดี ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ทรุดหนักติดลบไปถึง – 6.2% และปี 2564 เศรษฐกิจไทยแทบไม่ฟื้นเลย โดยขยายได้แค่ 1.6% ซึ่งบวกลบกันแล้ว ยังคงติดลบอยู่ถึง – 4.6% ดังนั้น การขยายตัว 3.3% ก็ยังฟื้นไม่ถึงระดับที่ได้ตกลงมา แถมไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.2% เท่านั้น ดังนั้น ครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงประมาณ 2.8% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ไม่เห็นน่าจะภูมิใจถึงกับต้องเร่งแย่งแถลงข่าวแต่อย่างไร ทั้งที่ตอนต้นปีพลเอกประยุทธ์ยังโม้เองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายได้ 4% ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้บอกแต่แรกแล้วว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะทำได้ไม่ถึงแน่

การที่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ต่ำยังไม่ฟื้นกลับไปถึงระดับที่ได้ตกลงมา ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขนาดนักวิชาการของทีดีอาร์ไอยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ส่งผลทำให้ทำไมประชาชนถึงรู้สึกลำบากกันอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจติดลบทำให้รายได้ของประชาชนลดลง คนหาเงินไม่พอค่าใช้จ่ายที่จะเลี้ยงตัวเองแลครอบครัว หาเงินไม่พอผ่อนบ้าน ไม่พอผ่อนรถ ต้องกู้เงินมาประคองชีวิต กู้มาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกหลาน ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง อีกทั้งธุรกิจก็ย่ำแย่ หนี้สินรุงรังและพุ่งสูงขึ้นเพราะรายได้เข้ามาน้อยแต่รายจ่ายเพิ่ม แถมยังต้องมาเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ไข่แพง หมูแพง น้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง ไฟฟ้าแพง ปุ๋ยแพง ค่าขนส่งแพง ฯลฯ ซ้ำเติม ยิ่งทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่รู้จะหารายได้ที่ไหนมาประคองชีวิตให้เพียงพอ อีกทั้งหากดอกเบี้ยขึ้นอีก ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิมอยู่แล้วให้ยิ่งหนักขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย ปัญหาจะเพิ่มหนักขึ้น และ ประชาชนจะทนกันไม่ไหว

ความจริงคือก่อนจะมีวิกฤตไวรัสโควิด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้วเพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำมากมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติรัฐประหาร ขนาดสื่อต่างประเทศยังขนานนามประเทศไทยว่าเป็น “คนป่วยของเอเชีย” พอมาเจอวิกฤตไวรัสโควิดเลยยิ่งป่วยหนัก ตอนนี้แม้ดูเหมือนอาการดีขึ้น เพราะท่องเที่ยวเริ่มที่จะกลับมาแต่ก็ยังน้อย ส่งออกขยายตัว (แต่ไทยยังขาดดุลการค้า) ซึ่งเป็นอาการฟื้นปกติ แต่ต้องถามว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่แทบมองไม่เห็นกันเลย มีแต่ความมืดมน เด็กจบใหม่หลายแสนคนตกงาน ยิ่งแถลงยุทธศาสตร์ 3 แกนยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวและความไม่รู้เรื่องของพลเอกประยุทธ์ ทั้งเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ อุตสาหกรรมที่ล้าสมัย และ หนี้สินที่ท่วมท้นทั้งหนี้ของประเทศและหนี้ของประชาชน ดูเหมือนว่าวันๆมีแต่คำหลอกตัวเองของพลเอกประยุทธ์เท่านั้นว่ากำลังไปได้ดี หรือ ต่อไปจะทำให้ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่ได้พิสูจน์เลยว่าจะทำให้ดีได้ คิดได้แต่การแจกเงิน ซึ่งต้องเลิกได้แล้ว ประชาชนอยากได้งานทำ อยากให้ขายของได้ดี มีรายได้เพิ่มเพียงพอจับจ่ายใช้สอยกับข้าวของที่แพง และหาเงินสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ พลเอกประยุทธ์จะต้องนำเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้จริง เพราะเงินที่แจกเป็นเพียงแค่การหาเสียง นำไปใช้แป๊ปเดียวก็หมด (ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการแจกปลาที่กินแล้วก็หมดไปใน 1 มื้อ แทนที่จะให้เบ็ดตกปลาเป็นอุปกรณ์ในการเลี้ยงชีพ) แต่ประเทศต้องใช้หนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

ดังนั้น การที่พลเอกประยุทธ์พยายามจะกลบปมด้อยทางเศรษฐกิจกลับเป็นการประจานความล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์เองที่เห็นได้ชัด โดยประชาชนสามารถสัมผัสได้จากความลำบากยากแค้นในการหาเลี้ยงชีพ ทุกวันนี้ในภาวะข้าวของแพง ต้องกู้หนี้ยืมสินจนหมดหนทางแล้ว หากพลเอกประยุทธ์ยังบริหารประเทศนี้ต่อไป สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายและประชาชนจะยิ่งลำบาก แต่พลเอกประยุทธ์กลับไม่รู้ตัวเลย แถมยังพยายามดื้อรั้นหาทุกวิถีทางที่จะอยู่ต่อ นี่เป็นอันตรายและเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

Related posts