ปทุมธานี ล่องเรือสำรวจคลองหมายเลข 3 แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 09:00น. นายปกรณ์พัฒน์ เทพเอื้อตระกูล นายกสมาคมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวปทุมธานี และ นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี ร่วมกิจกรรมล่องเรือสำรวจคลองหมายเลข 3 แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีสายน้ำตามวิถีชีวิตของชุมชน โดยใช้จุดแข็งชองชุมชนที่มีอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเริ่มจากการล่องเรือจากวัดศาลเจ้า แวะเยี่ยมศูนย์ประสานงานสมาคมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวปทุมธานี ที่กาด คาเฟ่ ตำบลบ้านกลาง มาที่ที่ทำการเชียงราก การประปานครหลวง
โดยตั้งเป้าหมายไปยังคลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว สิ้นสุดที่วัดบ้านพร้าวนอก รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าซึ่งมีความคดเคี้ยวมากเนื่องจากเป็นช่วงปลายแม่น้ำจึงมีการขุดคลองลัดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อร่นระยะการเดินทางของเรือสำเภาที่ใช้ในการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างชาติต่างๆ คลองลัดที่ขุดขึ้นใหม่ได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ซึ่งลดระยะทางจากเดิม 21 กิโลเมตรเหลือเพียง 5 กิโลเมตร จากการล่องเรือในวันนี้ พบว่า ช่วงประตูน้ำที่การประปานครหลวง น้ำเชี่ยวมากและเรือที่มีประทุนไม่สามารถผ่านไปได้และหลายช่วงมีผักตบชวาหนาแน่น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมคลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก
และคลองบ้านพร้าว ปัจจุบัน คลองหมายเลข 3 มีประตูน้ำปิดที่ปากแม่น้ำทั้ง 3 จุด การเป็นคลองปิดส่งผลให้มีการสัญจรและใช้งานน้อยลง ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ได้มีการถมคลองไปช่วงหนึ่งเพื่อทำถนนแล้ววางแนวท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร 2 ท่อด้านล่างแทน ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าถูกลดความสำคัญลงไปอีก ขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ก็กลายสภาพเป็นคลองน้ำนิ่งทำให้มีผักตบชวาขึ้นหนาแน่น ชุมชนริมสองฝั่งคลองยังคงใช้คลองเพื่อการสัญจรอยู่บ้าง อีกทั้งยังใช้งานในเชิงวัฒนธรรม เช่น การตักบาตรพระร้อยหลังวันออกพรรษาซึ่งพระสงฆ์ 100 รูปจะพายเรือมารับบาตรจากประชาชน แต่การถมคลองทำให้ชุมชนถูกตัดขาดจากกัน ชุมชนสองฝั่งคลองจึงได้เรียกร้องให้ฟื้นฟูคลองเพื่อหาทางขุดคลองที่ถูกถมกลับมาใหม่
เคยร่วมกันเสนอต่อกรมทางหลวงให้คืนชีวิตแก่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานีอีกครั้งหนึ่งโดยการรื้อถนนออก แล้วยกสูงขึ้นเป็นสะพาน ซึ่งกรมทางหลวงได้รับข้อเสนอและจัดทำแบบก่อสร้างนานแล้วและเรื่องก็เงียบไป ด้านกรมชลประทานก็ยินดีที่จะเปิดประตูน้ำที่ขวางระหว่างคลองกับแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แม่น้ำกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ชุมชน ในการรื้อฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าของปทุมธานี หากทำได้สำเร็จก็จะเกิดเส้นทางยาว 26 กิโลเมตรรอบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งมีขนาดเป็นสองเท่าของเกาะเมืองอยุธยา จะเกิดการท่องเที่ยวทางน้ำที่คืนชีวิตให้แก่ทั้งชุมชนและวัดที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อไป
ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย/รายงาน