ศิษยานุศิษย์ พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์กว่า 3,000 คน ร่วมตักบาตรถวายภัตตาหารพระสงฆ์ 120 รูป เนื่องในวันอายุวัฒนมงคล 97 ปี 76 พรรษา มีพระเกจิชื่อดังทั้งภาคอีสานร่วมถวายมุฑิตาสักการะเนื่องแน่น
เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) บ้านโนนศึกษา ตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ (ธ) ร่วมจัดงายถวายมุฑิตาสักการะ เนื่องในวันอายุวัฒนมงคล พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์ 97 ปี 76 พรรษา ซึ่งมีเกจิชื่อดังทั่วภาคอีสาน อาทิ หลวงปู่ปั่น สมาหิโต หลวงปู่บุญจันทร์ สีลคุณ และคณะสงฆ์ กว่า 200 รูป ร่วมพิธีถวายมุฑิตาสักการะ และศิษยานุศิษย์ กว่า 3,000 คน โรงทานกว่า 200 เจ้า เป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของอำเภอสหัสขันธ์
โดยนายธัญญา เอื้ออารีวรกุล ผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ภาค 4 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมถวายไทยธรรมแด่คณะสงฆ์ จากนั้นรับฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยพระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ ป.ธ.9) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ จ.ขอนแก่น จากนั้นร่วมถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นได้เปิดโอกาสให้พุทธบริษัทถวายสักการะพระเทพมงคลวชิรมุนี ตามลำดับ
สำหรับพระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน อดีตรองเจ้าคณะ จ.กาฬสินธุ์ เป็นพระเถราจารย์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2468 ปัจจุบันอายุได้ 97 ปี 76 พรรษา เป็นชาว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสักกะวันตั้งแต่ปี 2498 ต่อมา อ.สหัสขันธ์ ได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลโนนบุรี วัดสักกะวันได้ย้ายมาตั้งวัดที่เชิงเขาภูกุ้มข้าว ซึ่งต้องพัฒนาวัดสร้างโบสถ์ วิหาร และตัดถนนใหม่ทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว
ทั้งยังมีเมตตาเอื้อเฟื้อต่อสังคมนานัปการ ทั้งการก่อสร้างโรงพยาบาลสหัสขันธ์ อุปถัมป์โรงเรียนโนนป่างิ้ววิจิตรวิทยา และการทำนุบำรุงศาสนสถานภายในวัดให้มีความน่าอยู่ เป็นสถานปฏิบัติธรรม และพุทธสถานเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งพระเทพมงคลวชิรมุนี ได้นิมิตพบเห็นกระดูกไดโนเสาร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการขุดค้นพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยเป็นการพบกระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และมีจำนวนมากกว่า 700 ชิ้น ต่อมาได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์สิรินธร บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าวติดกับวัดสักกะวัน