บสย. จัดกิจกรรม ”TCG Stakeholders Day 2022”ชู Digital Technology ขับเคลื่อนองค์กร
บสย. จัดกิจกรรม “TCG Stakeholders Day 2022 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” ถ่ายทอด ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนธุรกิจ และผลดำเนินงาน “ค้ำประกันสินเชื่อ” พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และมุมมองต่อ บสย.เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบแผนแม่บทองค์กร โดยปีนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 9 กลุ่ม ยกให้ บสย. เป็นองค์กรที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญต่อการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ภายใต้ยุทธศาสตร์ Transformation ก้าวไปข้างหน้า ขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology ภายใต้แนวคิด TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเปิดกิจกรรม “TCG Stakeholders Day 2022 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย. โดยได้รับเกียรติจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกค้าและผู้ประกอบการ 2.คู่ค้า/สถาบันการเงิน 3.ผู้กำหนดนโยบายและงบประมาณ 4.ผู้ถือหุ้น 5.พันธมิตรและคู่ความร่วมมือ 6.ผู้ส่งมอบ 7.สื่อมวลชน 8.ชุมชน/สังคม 9.บุคลากร บสย. เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 200 คน ผ่านการประชุมระบบ Live Streaming พร้อมการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและแผนระยะยาว ของ บสย. รวมถึงการออกแบบกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตอบโจทย์ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืน
ประเด็นการนำเสนอและถ่ายทอด ประกอบด้วย การแถลงวิสัยทัศน์ ทิศทาง ผลดำเนินงาน บสย. ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน การบริหารจัดการนวัตกรรม และการมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ บสย. แสดงถึงผลดำเนินงาน บสย. ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ บสย. ครบรอบ 30 ปี แห่งความภาคภูมิใจ ที่จะส่งต่อและสร้างความมั่นใจ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน
โดยตลอดระยะเวลที่ผ่านมา บสย. มียอดค้ำประกันสะสมกว่า 1.31 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 1.75 ล้านล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 7.4 แสนราย เกิดการจ้างงานใหม่และรักษาการจ้างงานรวมกว่า 11.35 ล้านตำแหน่ง ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ 5.68 ล้านล้านบาท และในปี 2565 บสย. ได้มีการปรับโฉมองค์กรใน 3 มิติ (3N) เพื่อรองรับสู่การ Transform ประกอบด้วย 1.New Culture ก้าวสู่วัฒนธรรมองค์กรใหม่ TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs รวดเร็วเหมือน Fintech Company และรอบคอบเหมือนสถาบันการเงิน 2.New Engine พัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเจาะเฉพาะกลุ่ม 3.New Business Model ด้วย Digital Platform พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน Digital Gateway เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ กับสถาบันการเงิน
บสย. ยังประกาศเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานตามแผนปี 2565 – 2569 โดยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วนผ่านการขับเคลื่อนด้วย Digital Technology เพื่อให้การทำงานและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้รวดเร็วขึ้น โดยทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน พัฒนาแพลตฟอร์ม Digital lending และ TCG Digital Credit Guarantee
กิจกรรม “TCG Stakeholders Day 2022 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย. ในปีนี้ ประสบความสำเร็จเกินคาด กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นพ้องต้องกันและเป็นที่ประจักษ์ว่า บสย. เป็นองค์กรที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญต่อการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้า และผู้ประกอบการต้องการให้ บสย. ยืนเคียงข้างผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสามารถเดินหน้าธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน
พัฒนชัย/เชียงใหม่