”อลงกรณ์”ประกาศนโยบายส่งเสริมเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรมูลค่าสูง ตั้งเป้าสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2030
ในงานเสวนาหัวข้อ “อินทรีย์ – เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” วันนี้ ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นประธานเปิดงานซึ่งจัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และเกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP พร้อมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ เกษตรกร และผู้แทนพรรคการเมือง เช่น นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ภายใต้วิกฤติโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารและราคาอาหารแพงขึ้น ทำให้โลกเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นโอกาสในวิกฤติของไทย ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรชั้นนำของโลกและเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12ของโลกจากกว่า200ประเทศ
เพื่อตอบโจทย์โอกาสแห่งอนาคต พรรคประชาธิปัตย์จึงกำหนดแนวทางในการพัฒนาภาคเกษตรด้วย
5 เป้าหมายในการสร้างมิติใหม่จากครัวไทยสู่ครัวโลกได้แก่
1. เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยท็อปเทนของโลก
2. เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มรายได้ส่งออกอาหาร 2 ล้านล้านภายในปี 2030
3. ประเทศชั้นนำเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองและชนบท
4. ลดก๊าซเรือนกระจกแก้ปัญหาโลกร้อน ตอบโจทย์
Climate Change
5. ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขจัดความอดอยากหิวโหย
ทั้วนี้มีนโยบายหลักๆที่ยกมาเป็นตัวอย่างเช่น
1. นโยบายประกันรายได้เกษตรกรสู่การเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนด้วยการต่อยอดพัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง
2. นโยบายส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน บนฐาน คุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร
3. นโยบายตลาดนำการผลิต และระบบการค้าที่เป็นธรรม(Fair trade)
4. นโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรเพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิต(productivity)
5. นโยบายอาหารแห่งอนาคตเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตสินค้าเกษตร เช่นโปรตีนทางเลือกใหม่ ได้แก่ โปรตีนแมลง โปรตีนพืช สาหร่าย ผำ เห็ด เป็นต้น
6. นโยบายโลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทยเชื่อมโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเปิดประตูการค้าใหม่เช่นเกตเวย์อีสาน-เหนือ -ใต้ -ออก -ตกรวมทั้งเส้นทางขนส่งใหม่ๆเช่นเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
สำหรับประเด็นเรื่องเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์
จะขับเคลื่อนสนับสนุนส่งเสริมเกษตรปลอดภัยด้วย 3 แนวทางไปพร้อมๆกัน ได้แก่
1.เกษตรอินทรีย์
2.เกษตรเคมี-อินทรีย์
3.เกษตรเคมี
ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม
1.เกษตรรายย่อย
2. เกษตรพาณิชย์
3.เกษตรอุตสาหกรรม
4. เกษตรส่งออก โดยจะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเกษตรหรือนิคมเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อเป็นฐานการแปรรูปอาหารปลอดภัยใน18กลุ่มจังหวัดตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อกระจายโอกาส การค้า การลงทุนและการจ้างงานไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีที่เป็นธาตุอาหารของพืชเมื่อปีที่แล้วกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ100%
ขณะที่มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพปีละ2ล้านตันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3ล้านไร่จากพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ149ล้านไร่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์และกลุ่มเกษตรเคมีจึงควรหันหน้าร่วมมือกันให้มากขึ้น
โดยยึดแนวทางเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรมูลค่าสูงเป็นสำคัญด้วยมาตรการGAPและเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะในภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยทางด้านการส่งออกสินค้าเกษตรในฐานะครัวโลก “นายอลงกรณ์กล่าวในท้ายที่สุด.