พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงปฏิบัติการสร้าง ความตระหนักรู้เรื่องพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2565 ) เวลา 09.00 น. นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ณ โรงแรมบางกอกชฎา เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในสังคม นับเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แล้ว ตั้งแต่มีการประกาศใช้พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว แม้จะเห็นว่าสังคมมีการยอมรับผู้หญิงหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น แต่ยังพบว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศยังปรากฎให้เห็นในสังคม เช่น ปัญหาการถูกจำกัดสิทธิ โอกาส และความก้าวหน้าในการทำงาน ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ คือ การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เข้าใจและตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริง บนฐานความเข้าใจว่า “ควรเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศ ไม่เลือกปฏิบัติด้วยปัจจัยเพศภาวะ” กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเล็งเห็นว่ามูลนิธิ สมาคม ชมรม องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน หรือองค์กรเอกชน เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขึ้น ในวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าว มุ่งหวังสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศร่วมกับ มูลนิธิ สมาคม ชมรม องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน หรือองค์กรเอกชน
นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณนาดา ไชยจิตต์ นักวิชาการและนักกฎหมายอิสระ ร่วมถ่ายทอดความรู้เรื่องมายาคติของสังคมกับปัญหาความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปรับฐานคิดความเท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อขับเคลื่อนงานด้านสังคม คุณปัญญา กางกรณ์ กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สร้างความเข้าในเจตนารมณ์และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศและการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ทั้งนี้ภายในการประชุมยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียม ดร.นรินทร์ กรินชัย ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา คุณสุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ และ ศ.ดร.อัญชลี มีมุข ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการจัดทำโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ด้วย
นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ กล่าวว่า ขอขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากมูลนิธิ สมาคม ชมรม องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน หรือองค์กรเอกชน จำนวน 23 องค์กร เช่น สมาคมสื่อมวลชนเพื่อสังคม เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์สตรีมุสลิมประเทศไทย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อชุมชน สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ฯลฯ จำนวนกว่า 50 คน ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น
ในการประสานความร่วมมือเพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จนนำไปสู่การสร้างกลไกในการสร้างสังคมเสมอภาค ต่อไป
ข้อมูลข่าว:สมาคมสื่อมวลชนเพื่อสังคม