สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เปิดสายด่วนแจ้งเบอร์แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ เพื่อปิดกั้นการใช้งานและดำคดีตามกฏหมาย
วันนี้ (24 เม.ย.65) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT: Police Cyber Taskforce เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน อาชญากรรมทางออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงมีนโยบาย ให้ทำความร่วมมือกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หาแนวทางตัดการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โดยทุกครั้งที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหรือส่งข้อความเข้ามาให้ประชาชนแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเข้าระบบเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย เพื่อตรวจสอบพร้อมบล็อคเบอร์ดังกล่าว จากนั้นเบอร์โทรศัพท์จะถูกส่งต่อให้กับศูนย์ PCT เพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 72 ชม. เพียงเท่านี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะใช้เบอร์โทรศัพท์นั้นหลอกลวงประชาชนไม่ได้และถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ซึ่งช่องทางการแจ้งมีดังนี้
📞Ais 🟢 1185
📞True🔴 9777
📞Dtac🔵 1678
รอง ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า จากสถิติคดีทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ (1 มี.ค.65) ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความคดีออนไลน์แล้ว 15,557 ราย โดยอาชญากรรม 9 ลำดับ ที่ประชาชนถูกหลอกมากที่สุด ได้แก่ 1.ความผิดเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสินค้า 5,311 คดี 2.หลอกทำภารกิจ (เช่น ให้รีวิวสินค้า,กดไลท์ Tiktok, กดไลท์สินค้า) 1,884 คดี 3.หลอกให้กู้เงิน 1,573 คดี 4.ทำให้รักแล้วหลอกลงทุน (Hybrid scam) 1,296 คดี 5.Call center 1,206คดี 6.แชร์ลูกโซ่ 554 คดี 7.หลอกยืมเงิน 553 คดี 8.ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงปก 227 คดี และ 9.หลอกลวงรูปแบบอื่นๆ อีก 1,889 คดี
ผอ. PCT กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใย และได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามและหาแนวทางป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า อย่าหลงเป็นเหยื่อโอนเงินให้ใครง่ายๆ ทั้งนี้ หากพบเบาะแส สามารถแจ้ง ได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม. หรือผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่าน ระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com