ขอนแก่น-“ภูระงำ” แดนลี้ลับ ที่รอการค้นหา
“ภูระงำ” ในปัจจุบันกำลังรอการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของชาวอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น แต่ในอดีต “ป่าภูระงำ” ยังมีความลี้ลับ อัศจรรย์อีกมากมาย จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นทางจาริกธรรมะของ “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่า ที่เคยนำพาคณะศิษย์เดินธุดงค์มาค้างแรม ณ ที่แห่งนี้ ปรากฏการณ์ของพญางูยักษ์ที่จำศีลถาวนาภายในถ้ำ และจะออกมาเล่นน้ำในคืนเดือนเพ็ญ และเรื่องราวของตะขาบยักษ์ ล้วนเป็นเรื่องราวที่ท้าทาย และรอการสืบค้นจากผู้รู้
“ป่าภูระงำ” ถือว่าเป็นผืนป่าเพียงแห่งเดียว ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของวนอุทยานภูหัน – ภูระงำ เป็นวนอุทยานที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จักมากนัก โดยสภาพโดยทั่วไป มีเนื้อที่ 6,240 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งเชื่อมป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ โดยมีภูเขาขนาดเล็กมีจุดสูงจากระดับน้ำทะเล 250 เมตร บริเวณโดยรอบมีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นสลับกับลานหินทราย เพิงหิน ถ้ำ
นอกจากนี้แล้วบริเวณรอบๆ เขตวนอุทยานยังรายล้อมไปด้วยก้อนหินรูปร่างลักษณะแตกต่างๆ กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ไหล่เขา ซึ่งหินบางก้อนนั้นมีความงดงามราวกับเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ ที่สร้างสรรค์เอาไว้ให้กับหมู่มนุษย์นั่นเอง ที่เป็นจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ โดยรูปทรงต่างๆ ของหินทราย เกิดจากการกัดเซาะโดยกระแสน้ำหรือกระแสลมเป็นเวลานาน ทำให้ตะกอนมีการเรียงตัวเอียงไปตามทิศทางของกระแสน้ำหรือกระแสลม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
เส้นทางศึกษาธรรมชาติวนอุทยานภูหัน – ภูระงำ จะพาท่านไปพบกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ เช่น การเอาตัวรอดของพรรณไม้ยุคแรกๆ ของโลกจนสามารถดำรงชีวิตถึงปัจจุบัน กระบวนการทางธรณีวิทยาที่รังสรรค์งานปะติมากรรมหินทรายรูปทรงต่างๆ และการพึ่งพาอาศัยกันและกันของธรรมชาติ
โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติวนอุทยานภูหัน – ภูระงำ มี 2 ระยะทาง คือ ระยะทางสั้น ความยาวประมาณ 450 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 30-45 นาที และระยะทางไกล ความยาวประมาณ 1,420 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เส้นทางจะมีความลาดชันปานกลาง บางช่วงมีความลาดชันมากและขรุขระ เพื่อความสนุกสนานในการชื่นชมธรรมชาติ ควรเตรียมกล้องถ่ายภาพ กระติกน้ำ และสวมรองเท้าหุ้มส้น ใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด
ก่อนที่จะเริ่มสำรวจธรรมชาติ สถานที่แห่งแรกที่นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วพบเห็นคือ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภูหัน” เป็นสระน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปีไม่เคยเหือดแห้งแม้จะเป็นฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำที่เคยใช้ประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ( 5 ธันวาคม 2542) และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ( 5 ธันวาคม 2554)
เมื่อเข้าไปในเขตวนอุทยาน นักท่องเที่ยวจะได้หินทรายรูปทรงต่างๆ ตั้งเรียงราย ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะโดยกระแสน้ำหรือกระแสลมเป็นเวลานานมีความงดงามราวกับเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ เกิ้งจ้อง เกิ้งย่ามา เกิ้งตะขาบ เกิ้งขาม คำว่า “เกิ้ง” สันนิษฐานว่า เป็นคำเรียกเพิงหิน ที่ใช้พักหลบแดด ฝน และอันตราย ซึ่งที่บริเวณเกิ้งขาม นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมภาพเขียนตามผนังหินจำนวนมาก ซึ่งมีภาพเขียนรูปต่างๆ เป็นปริศนาตามความเชื่อของชาวบ้านคิดว่าเป็นลายแทงแหล่งสมบัติ เป็นรูปไม้กางเขน ตะขาบ วัวแดง ฝ่ามือ สัญลักษณ์คล้ายแผนที่ แจกัน รูปผู้ชายยื่นดอกไม้ให้ผู้หญิง จั่วบ้าน เป็นต้น โดยภาพที่พบไม่สามารถบอกได้ว่า ในยุคนั้นอยู่ในสังคมเกษตรกรรม หรือสังคมเริ่มแรกของการเร่ร่อน เพราะไม่มีภาพบ่งบอกชัดเจน เบื้องต้นนักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น สันนิษฐานว่า ภาพดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ 2,000 – 5,000 ปี โดยภาพเขียนเหล่านี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นโบราณสถานสมบัติของชาติ
“วนอุทยานภูหัน – ภูระงำ” มีเนื้อที่ในความรับผิดชอบ 6,240 ไร่ แต่มีกำลังเจ้าหน้ารับผิดชอบดูแลแค่ 6 คน โดยมี นางสาวพิมพ์กานต์ วงษ์ภูดร เป็นหัวหน้าวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ เจ้าหน้าที่รักษาป่าทั้ง 6 คน มีสภาพเป็นลูกจ้างรายเดือนๆละ 9,000 บาท และสิ้นกันยายน 2565 นี้ เจ้าหน้าที่อีก 2 คน จะหมดสัญญาจ้าง มีหัวหน้าวนอุทยาน เพียงคนเดียวที่เป็นข้าราชการ ทุกคนทำงานใจเกินร้อย บนความขาดแคลนทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน อาวุธปืน และรถยนต์ตรวจการณ์ ซึ่งมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ แถมเป็นรถนอกอัตราการจัด ค่าน้ำมัน ค่าซ่อม จึงไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ ดังนั้นในการออกตรวจในแต่ละวันส่วนใหญ่ จนท.จะใช้ จยย.ส่วนตัว และที่สำคัญห้องน้ำ ห้องสุขา ที่สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว มีเพียง 2 ห้องเท่านั้น ส่วนไฟฟ้าได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาส วัดป่าภูหันบรรพต ให้ต่อพ่วงไฟมาใช้
อำเภอชนบท ไม่ใช่มีเฉพาะผ้าไหมที่ขึ้นชื่อระดับประเทศเท่านั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง อาทิ ศาลาไหมไทย ถนนสายไหม ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ วัดป่าโนนพะยอม วัดป่าภูหันบรรพต ชุมชนมัดหมี่บ้านหัวฝาย และวนอุทยานภูหัน – ภูระงำ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติ หากสนใจจะไปชื่นชมธรรมชาติ และบรรยากาศในแบบฉบับนักผจญภัย ท่านสามารถไปเที่ยวชมวนอุทยานภูหัน – ภูระงำ ได้ทุกวัน เส้นทางสะดวกขับรถกินลมชมวิวสองข้างทาง ออกจากตัวอำเภอชนบทประมาณ 17 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 084-0723655 “หัวหน้าเดียว” คุณพิมพ์กานต์ วงษ์ภูดร หัวหน้าวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ และเจ้าหน้าทุกคน พร้อมอำนวยความสะดวกให้ครับ