กาฬสินธุ์ ร้อนปะทะฝนเตือนปลากระชังเงินล้านเสี่ยงน็อคตาย

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ร้อนจัด และเริ่มมีฝนตกลงมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเกิดความเสียหายให้กับอาชีพเลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำปาว ขณะที่ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ใช้เครื่องตีน้ำเพิ่มออกซิเจนในน้ำก่อนอากาศปิด ป้องกันสาเหตุปลากระชังน็อคน้ำตาย อดได้ขายโกยเงินในเทศกาลสงกรานต์

 


วันที่ 19 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ พบว่าเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว กลางวันอากาศร้อนจัด บางวันมีฝนตกลงมา ได้ส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงปลากระชังเงินล้าน ซึ่งเลี้ยงกันมากบริเวณเขื่อนลำปาว โซนติดเขื่อน เขต ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์, ต.ภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ซึ่งกำลังเร่งการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ขนาดตัวโต ที่จะจับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้ ในช่วงนี้เคยเกิดเหตุการณ์ปลากระชังน็อคน้ำตายเป็นประจำทุกปี สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล


นายทองคูณ แดนกาไสย์ สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงปลากระชังเขื่อนลำปาว ต.ภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ต้องมีการเตรียมรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่เรียกว่าร้อนปะทะฝน ที่จะทำให้สภาพาอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อุณหภูมิในน้ำไม่คงที่ ทำให้ออกซิเจนในน้ำเจือจาง ที่จะส่งผลให้ปลาน็อคตายได้ ซึ่งทุกปีท่านมาพบว่าปลาในกระชังของเกษตรกร เขต ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์, ต.ภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ได้รับความเสียหายหลายราย เกิดความเสียหายเป็นมูลค่านับล้านบาททีเดียว


ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่สภาพอากาศเกิดการแปรปรวน ร้อนสลับฝนตก ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าอากาศปิด ออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจของปลากระชังเกิดการละลาย เป็นสาเหตุให้ปลาขาดอากาศหายใจและน็อคน้ำตายได้ สิ่งสำคัญที่เกษตรกรควรทำคือใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มค่าออกซิเจนในน้ำ ที่จะลดสาเหตุปลาน็อคน้ำได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ต้องหมั่นตรวจวัดอุณหภูมิในน้ำ หากตรวจพบว่าอากาศเริ่มปิด ให้เริ่มตีน้ำตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นต้นไป


นายวุฒนิชัยกล่าวอีกว่า กรณีของปลากระชังน็อคน้ำนั้น เป็นเรื่องที่เกษตรกรสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากความผิดปกติสุดวิสัย ในขณะที่ทางภาครัฐนั้น จะเป็นฝ่ายให้ข้อแนะนำในส่วนของการป้องกันมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากเกิดความเสียหายดังกล่าว จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ เว้นเสียจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับอาชีพเลี้ยงปลากระชังในการเลี้ยงทุกฤดูกาล เกษตรกรควรวางกระชังในระดับน้ำลึกเพียงพอ โดยก้นกระชังสูงจากพื้นท้องน้ำไม่น้อยกว่า 50 ซม.เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก, ควรจัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป, ควรปล่อยปลานิลลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติอัตราไม่เกิน 400-500 ตัวต่อกระชังหรือ 20 ตัวต่อตารางเมตร, ควรเตรียมเครื่องสูบน้ำพ่นเป็นฝอยหรือเครื่องตีอากาศติดตั้งพร้อมใช้งาน เมื่อสังเกตอาการต่างๆของปลามีอาการผิดปกติปลาลอยหัวหุบอากาศ แสดงว่าปลาขาดออกซิเจนจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที กรณีที่มีปลาป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

Related posts