ลำพูน – ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน 3 ระดับ ภายใต้ 5 มาตรการ

ประชุมรับมอบนโยบาย ตามโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน 3 ระดับ ภายใต้ 5 มาตรการ

 

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดลำพูน (POC) ชั้น 3 ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ร่วมประชุมรับมอบนโยบายจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) ตามโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายธนา นวลปลอด รักษาการหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน, หัวหน้าส่วนราชการ, เจ้าหน้าที่และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ

นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะสำนักงานเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้จัดทำโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้กับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนห้องถิ่น ในการขับเคลื่อนนโยบาย กรอบแนวคิด ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมคิด ร่วมวางแผน ของประชาชนในพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดความปลอดภัย และมีความยั่งยืน

 

ด้าน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สำหรับข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดลำพูน ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เดือน ตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 มีอุบัติเหตุ รวม 350 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 340 ราย และมีผู้เสียชีวิต 62 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาสุรา ร้อยละ 31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 13 ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85 รถยนต์กระบะ ร้อยละ 8 รถยนต์เก๋งส่วนบุคคล ร้อยละ 2 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 41 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 17 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 8 ถนนที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนในองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)/หมู่บ้าน ร้อยละ 49 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 25 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 21 บริเวณจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดบนทางตรง ร้อยละ 28 ทางโค้ง ร้อยละ 12 ทางแยก ร้อยละ 5 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมักจะเกิดช่วงเวลา 16:01 นาฬิกา – 20:00 นาฬิกา ร้อยละ 41 ช่วงเวลา 12:01 นาฬิกา – 16:00 นาฬิกา ร้อยละ 17 และ ช่วงเวลา 20:01 นาฬิกา -00:00 นาฬิกา ร้อยละ 14

สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดลำพูน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประเด็นหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกนิรภัย, การเมาแล้วขับ, การขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด, การขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย ด้านแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน 3 ระดับ ภายใต้ 5 มาตรการ การดำเนินงานผ่าน 3 ระดับ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด(ศปถ.จ.)ลำพูน

ทั้งนี้ ศปถ.จ.ลำพูน ได้มีการประชุม ศปถ.จ. เป็นประจำทุกเดือน, ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ 8 แห่ง, ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 57 แห่ง

1. มาตรการบริหารจัดการ การขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนโดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดลำพูน ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

2. มาตรการบังคับใช้กฎหมายกวดขันวินัยจราจร มีการตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายและกวดชันวินัยจราจรแก่ผู้ขบขี่ยานพาหนะตามฐานความผิด 10 (รสขม) อย่างน้อยเดือนละ 330 ครั้ง ควบคุมบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)ขนส่งทางบก เดือนละ 10 ครั้ง มีการใช้กล้องตรวจจับความเร็วตามมาตรการ อย่างน้อยเดือนละ 210 ครั้ง และมีการตรวจรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เดือนละ 15 ครั้ง

3. มาตรการปลูกจิตสำนึกสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการขับขี่ ดำเนินการมาตรการองค์กร รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย โครงการตำบลขับขี่ปลอดภัย จัดตั้งด่านชุมชน ด่านโรงงาน ด่านโรงเรียน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์การขับขี่ปลอดภัยในทุกรูปแบบอบรม ให้ความรู้การขับขี่ปลอดภัย และจัดทำใบอนุญาตขับขี่ให้แก่เด็กและเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา

4. มาตรการด้านวิศวกรรมจราจรและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจ แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย บนถนนที่รับผิดชอบให้มีความปลอดภัยต่อการขับขี่ ดำเนินสำรวจ ออกแบบและทำเครื่องหมายป้องกันอุบัติเหตุบริเวณถนนตัดผ่านทางรถไฟ

5. มาตรการปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และระบบการแพทย์ฉุกเฉินการเข้าถึงบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน Emergency Medical Services(EMS) ณ จุดเกิดเหตุก่อนถึงโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทางถน การแจ้งเหตุและสั่งการผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ดำเนินการได้เกินกว่าร้อยละ 25 ของผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

Related posts