มรภ.สฎ – มรภ.ภูเก็ต จับมือพัฒนานวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ดันอัตลักษณ์อันดามัน – อ่าวไทย ยกระดับ ECO SPA สู่สากล
———————-
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ นำองค์ความรู้บูรณาการศาสตร์สุขภาพควบคู่สิ่งแวดล้อม ดึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นชาวเกาะอันดามัน-อ่าวไทย ยกระดับอัตลักษณ์ภาคใต้สู่สากล โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี และ ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. เป็นผู้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและการวิจัย มรภ. และ ดร.พุทธพร บุญณะ ประธานกรรมการศูนย์นวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ณ ห้องราชพฤกษ์ 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และผลักดันการใช้ประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถด้านสปาและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเกาะสมุย ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพและทรัพยากรที่มีความคล้ายคลึงกับเกาะภูเก็ต จึงร่วมกันนำองค์ความรู้มาบูรณาการศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพัฒนา ส่งเสริม และถ่ายทอดสู่ผู้เรียนหรือประชาชนในท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทรัพยากรในท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ และส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ให้มีความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในพิธีลงนามความร่วมมือ ได้มีการนำเสนอการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดย ดร.พุทธพร บุญณะ ประธานกรรมการศูนย์ฯ พร้อมร่วมประชุมสร้างความร่วมมือการพัฒนางานวิจัย การบริการวิชาการ และบูรณาการความร่วมมือด้านสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพพื้นที่อันดามันและอ่าวไทย หวังพัฒนาตัวชี้วัดมาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นสู่การยกระดับบริการสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่ระดับสากล พร้อมกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินสปา ตลอดการกำหนดแนวทางในการพัฒนา ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติท่องเที่ยวในสปาเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ท้องถิ่นต่อไป
———————-
สรเดช ส้มเกลี้ยง สุราษฎร์ธานี