“เทศบาลตำบลทับมา ชูการจัดการขยะแบบครบวงจร(ROSES) เป็นต้นแบบแก้ไขปัญหาขยะ สร้างการมีส่วนร่วมบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน”
////ปัญหาขยะถือเป็นปัญหาระดับชาติ โดยรัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระชาติ ซึ่งปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ที่ทุกภาคส่วนของประเทศต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วน ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงปลายทาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เป็นฟันเฟืองสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะให้สำเร็จลุล่วงได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนมีงบประมาณในการบริหารจัดการขยะให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เทศบาลตำบลทับมา ถือเป็น อปท.แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ที่ให้ความสำคัญการจัดการขยะในพื้นที่ โดยมีการบบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ครัวเรือนเป็นต้นไป โดยใช้การบริหารจัดขยะแบบครบวงจร โดยใช้กระบวนการโรสเสส(ROSES) มาใช้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะตั้งแต่ครัวเรือน หรือต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งขยะมูลฝอย ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล มีการนำขยะมาเพิ่มมูลค่า โดยการส่งเสริมกลุ่มอาชีพ มีศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ บ้าน วัด โรงเรียนด้วย เป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างดี
นายประเสริฐ วงษ์ศรี นายกเทศมนตรีตำบลทับมา เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลทับมา มีเป้าหมายในการจัดการขยะที่ชัดเจน คือ การลดปริมาณขยะมูลฝอยและนำของเสียกลับไปใช้ประโยชน์ โดยมุ่งสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย และผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมกระบวนการแบบโรสเสส(ROSES)ไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสร้างรายได้เห็นเป็นรูปธรรม ตลอดจนเพื่อสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนในการคัดแยกขยะและปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ปัจจุบันการจัดการขยะแบบโรสเสส(ROSES)ดังกล่าว เทศบาลตำบลทับมา ได้มีการต่อยอดการจัดการขยะในชุมชน เพื่อให้คนมีรายได้ ทำให้มีการรวมกลุ่มกันผลิตเป็นสินค้า และผลิตภัณฑ์ขึ้น เช่น มีกลุ่มเลี้ยงชันโรง ที่มีการผลิตเป็นน้ำผึ้ง สบู่ ยาสระผมจากชันโรง มีกลุ่มผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนของชุมชนเองและวัดในพื้นที่ โดยนำขยะประเภทผักและเศษอาหารจากครัวเรือนมาเลี้ยงไส้เดือน กลุ่มทำหมอนหลอดและผ้าร่มเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง โดยนำหลอดดูดน้ำพลาสติกและผ้าร่มเหลือใช้มารีไซเคิล กลุ่มผลิตสมุนไพร เพื่อสุขภาพ กลุ่มผลิตพริกแกง ไข่เค็ม และกะปิ เป็นต้น
ทั้งนี้ การนำการจัดการขยะแบบโรสเสส(ROSES)มาใช้ขับเคลื่อนในชุมชนเกิดเป็นที่ประจักษ์ จนนำไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบและได้รับรางวัลชนะเลิศ เทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2563 และรางวัลด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม ประจำปี 2564 ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องทำให้ชุมชนมีรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนนำกลับไปขับเคลื่อนในพื้นที่ตัวเองให้มีความยั่งยืนต่อไป.